สระบุรีเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งแต่โบราณ สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พุทธศักราช ๒๐๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ การตั้งเมืองนี้สันนิษฐานว่า พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเขตพื้นที่บางส่วนของเมืองลพบุรีกับเมืองนครนายกมารวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เป็นศูนย์ระดมพลเมืองในยามศึกสงคราม เพราะฉะนั้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา จึงมักพบเรื่องราวของจังหวัดสระบุรีเกี่ยวกับการศึกสงครามอยู่เสมอสำหรับที่มาของชื่อจังหวัด “สระบุรี” สันนิษฐานว่า เพราะเหตุที่ทำเลที่ตั้งครั้งแรกมีบึงอยู่ใกล้ คือ “บึงหนองโง้ง” เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงได้นำเอาคำว่า “สระ” มารวมเข้ากันกับคำว่า “บุรี” เป็นชื่อเมือง “สระบุรี” และประเพณีสมัยโบราณนิยมคือเมื่อมีการตั้งเมืองใหม่ขึ้น จะต้องมีการตั้งศาลหลักเมืองขึ้นอยู่คู่กันเสมอ เพื่อเป็นที่สิงสถิตของเทพารักษ์ประจำเมือง
ศาลหลักเมืองสระบุรีปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่ว่าการอำเภอเมืองสระบุรี (ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) ในด้านที่ติดกับถนนพิชัยรณรงค์สงคราม บริเวณโดยรอบกว้างขวางสะอาดสะอ้าน มีที่จอดรถมากพอสมควร ตัวศาลมีลักษณะเป็นศาลาจตุรมุข มีซุ้มประตูรอบทั้งสี่ด้าน แต่มีประตูทางเข้า-ออกสามด้าน อีกด้านหนึ่งที่เหลือโบกปูนปิดทึบด้านในประดิษฐาน รูปเคารพเทพารักษ์ประจำเมืองภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสระบุรี อันได้แก่ พระเสื้อเมือง , พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี
พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังคนทั่วไปพล แสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน
พระทรงเมือง เป็นเทพรักษาการปกครอง และกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
พระกาฬไชยศรี เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
หลังคาศาลหลักเมืองตรงกลางทำเป็นยอดปรางค์สูงขึ้นไปที่ปลายยอดมีนภศูล ทำด้วยโลหะหล่อเป็นรูป 6 แฉกคล้ายปลายดาบ ระหว่างกลางแทรกด้วยแกนคล้ายปลายหอก